ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ
17 มิถุนายน 2565
ประเทศไทยพบแนวโน้มผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเกิดจากปัจจัย ทั้งที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เพศ อายุ กรรมพันธุ์ และปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย แม้โรคหัวใจจะเป็นอันตรายถึงกับชีวิต แต่ก็สามารถป้องกันได้โดยการปรับพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจ และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ
ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ
- อายุที่มากขึ้น อวัยวะต่างๆ ย่อมเสื่อมไปตามสภาพ
- เพศชายมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าเพศหญิง
- ผู้ที่เป็นเบาหวานจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ 2-4 เท่า
- ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตที่มากกว่า 140/90 มม./ปรอท จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงตั้งแต่อายุน้อยกว่า 50 ปี จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนปกติ
- ไขมันในเลือดสูง
ภาวะอ้วน ในผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 23 จะมีผลต่อสุขภาพหัวใจ และหาก BMI มากกว่า 30 แสดงว่าคุณเป็นโรคอ้วน และมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
การวัดรอบเอวจะช่วยให้ทราบความเสี่ยงของโรคหัวใจได้
► ผู้หญิง- เอเชีย ที่มีรอบเอวมากกว่า 32 นิ้ว (80ซม.) ผู้ชาย - เอเชีย รอบเอวมากกว่า 35 นิ้ว (90 ซม.) มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น
อาหารไขมันสูง ในอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อวัวติดมัน เนื้อแกะ เนื้อหมู (รวมถึงเบคอนและแฮม) เนื้อไก่ที่มีหนัง ไขมันวัว (tallow) น้ำมันหมู ครีม เนย ชีส และผลิตภัณฑ์จากนมไขมันเต็มส่วน หรือพร่องมันเนย เป็นสาเหตุของโรคหัวใจประมาณ 31 % ในประชากรโลก
- พันธุกรรม หากพบว่าในครอบครัวสายตรงที่มี ผู้ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี หรือผู้หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี เป็นโรคหัวใจ เท่ากับคุณจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าคนทั่วไป
- การสูบบุหรี่ ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจมากกว่าผู้ชายที่สูบบุหรี่ และความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัว ในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ 3-5 มวน/วัน และในผู้ชายที่สูบบุหรี่ 6-9 มวน/วัน การสูบบุหรี่เพิ่มอัตราการตายจากโรคหัวใจถึง 300 %
อาการ ที่ควรนึกถึงโรคหัวใจ
1. เจ็บหน้าอก อาการเจ็บแน่นหน้าอก 3 ลักษณะที่พึงสังเกตว่าจะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- เจ็บแน่นหน้าอกตรงกลางเหมือนมีอะไรมาทับ ร้าวไปที่กราม แขน ไหล่ หรือลิ้นปี่
- เจ็บแน่นหน้าอกที่สัมพันธ์กับการออกแรง หรือออกกำลังกาย
- อาการเจ็บแน่นหน้าอกดีขึ้นเมื่อนั่งพัก หรือเมื่ออมยาขยายหลอดเลือดใต้ลิ้น
2. ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิดจังหวะ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ อาจพบได้ในคนปกติ โรคหัวใจ หรือโรคอื่นๆ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอด เป็นต้น
3. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
4. ขาบวม
5.อาการวูบ หรือหน้ามืด
หากมีอาการข้างต้น ให้คิดไว้เสมอว่าอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจค่อนข้างชัดเจน แพทย์จะส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจ และทำการรักษาต่อไป ควรมาตรวจคัดกรอง เพื่อให้แน่ใจว่ามีปัญหาโรคหัวใจหรือไม่ กับแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ
► ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ หรือ โทร 096-9173851
ข้อมูลจาก www.samitivejhospital.com